กรมทางหลวง จัด Market Sounding “โครงการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M6 และ M81” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก เตรียมประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ต้นปี 2567

กรมทางหลวง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริการจัดการโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา และโครงการที่พักริมทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสาระสำคัญของโครงการและเปิดโอกาสให้เอกชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาและบริหารที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นการยกระดับการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากลนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า การพัฒนาที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ตามนโยบาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้กรมทางหลวงมุ่งเน้นการพัฒนาและกำกับดูแลระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้การเดินทางและขนส่งมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เป็นการยกระดับการให้บริการ พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา มีที่พักริมทางรวมทั้งหมด 15 แห่ง วงเงินลงทุนก่อสร้างโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งการบริหารโครงการเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ประกอบด้วยที่พักริมทางจำนวน 8 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์บริการทางหลวง จำนวน 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง และจุดพักรถ จำนวน 5 แห่ง สัญญาที่ 2 ประกอบด้วยที่พักริมทางจำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็น ศูนย์บริการทางหลวง จำนวน 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง จำนวน 2 แห่ง และจุดพักรถ จำนวน 4 แห่ง ในส่วนโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี มีที่พักริมทางทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย สถานที่บริการทางหลวง จำนวน 4 แห่ง และจุดพักรถ จำนวน2 แห่ง บริหารโครงการในรูปแบบสัญญาเดียว วงเงินลงทุนก่อสร้างโครงการประมาณ 1,350 ล้านบาททั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมทางหลวงจึงเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พรบ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยมีระยะเวลาโครงการ 32 ปี แบ่งเป็นช่วงการออกแบบและก่อสร้าง 2 ปี และบริหารจัดการ ดูแลและบำรุงรักษาโครงการอีก 30 ปี สำหรับการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางทั้ง 2 โครงการ กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์โครงการ และผ่านความเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ตามขั้นตอนใน พรบ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพและมีความสนใจในการร่วมลงทุน กรมทางหลวงจึงได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงร่าง RFP ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งภายในงานได้รับความสนใจภาคเอกชนหลากหลายธุรกิจ ทั้งจากกลุ่มผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบการด้านพลังงาน กลุ่มผู้ประกอบการด้านการก่อสร้างและบริหารมอเตอร์เวย์และทางด่วนกว่า 50 บริษัท สถาบันการเงิน หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจกว่า 15หน่วยงาน ตลอดจนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน นอกจากนี้ ยังมีเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมการสัมภาษณ์เชิงลึก (Market Interview) ในวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2566 นี้ด้วย หลังจากงานในวันนี้ ผู้สนใจยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ ที่ช่องทาง www.doh.go.th และ www.doh-motorway.com ได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 นี้ โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในช่วงต้นปี 2567 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน และลงนามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 เปิดให้บริการบางส่วน ในปี 2568 และ เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ต่อไปทั้งนี้ ที่พักริมทาง ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้แวะพักผ่อน ทำธุระส่วนตัว ผ่อนคลายอิริยาบถ ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากความเหนื่อยล้าหรือหลับในของผู้ขับขี่ โดยภายในพื้นที่ดังกล่าวมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ครบครัน เช่น ที่จอดรถ พื้นที่พักผ่อน ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการบริการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทาง ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน ควบคู่กับอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้ทางประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้า-ออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย